แบบพระพิมพ์ดินเผานาดูน

พระพิมพ์ดินเผานาดูนที่ขุดพบเมื่อปี พ.ศ.2522 นั้น เป็นพระพิมพ์ดินเผาฝีมือช่างประจำราชสำนัก โดยในกอมระตาญง์พร้อมด้วยสหายได้ร่วมกันสร้างไว้เพื่อเป็นพุทธบูชาสืบต่อพระพุทธศาสนา พระพิมพ์ดินเผานาดูนมีพุทธศิลป์ลวดลายลีลาอ่อนช้อยสวยงาม และเป็นศิลปะสมัยทวารวดีมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-16 หรือประมาณ 1,300 ปี เนื้อพระพิมพ์แข็งแกร่งมากใช้เลื่อยตัดเหล็กตัด 2-3 ปิ้นจึงจะขาด พระพิมพ์บางองค์กลายเป็นเนื้อหิน สีเนื้อพระพิมพ์ 5 สี คือ สีหิน (สีน้ำตาลแก่) สีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองมันปู สีชมพู (มีน้อยมาก) สีแดงหินทราย สีขาวนวล (สีเทาอ่อน) ในพระพิมพ์เกือบทุกพิมพ์จะมีรูปสถูปจำลองปรากฏอยู่เสมอ และเป็นพระพิมพ์เล่าเรื่องพุทธประวัติที่มีความหมายอยู่ในตัว รูปลักษณะของพระพิมพ์เป็นแผ่นดินเผาซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 รูปลักษณะ คือ

  1. สามเหลี่ยมรูปใบไม้ หรือรูปหอย เช่น พระแผง 47 องค์ พระนั่งขัดสมาธิในซุ้มใบไม้ มีฐานตั้ง
  2. สามเหลี่ยมหน้าจั่ว เช่น พระแผง 15 องค์ พระแผง 32 องค์ เป็นต้น
  3. สี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น พระพิมพ์ปางเสด็จดาวดึงส์ ปางประทับยืนแสดงธรรมปางประทับนั่งแสดงธรรม ฯลฯ
  4. สี่เหลี่ยมจตุรัส เช่น พระพิมพ์ 4 องค์ พระแผง 32 องค์ ฯลฯ
  5. ฐานเหลี่ยมยอดโค้ง เช่น พระพิมพ์นั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ซุ้มโพธิ์ฐานสูง      พระพิมพ์นั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ฐานเตี้ย พระนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวซุ้มโพธิ์ ฯลฯ
  6. แบบลอยตัวองค์เดียว เช่น พระปางนาคปรก พระปางลีลา ฯลฯ

นอกจากจะแบ่งรูปลักษณะได้แล้วยังสามารถแบ่งออกเป็นปางต่างๆ ได้ 8 ปาง คือ

  1. ปางทรงแสดงธรรม จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาททรงแสดงธรรม และลักษณะประทับยืนทรงแสดงธรรม
  2. ปางยมกปาฏิหาริย์ จะมีอยู่ 2 แบบพิมพ์ คือ แบบพิมพ์นูนสูง และแบบพิมพ์นูนต่ำ ทั้ง 2 แบบพิมพ์จะมีลวดลายคล้ายคลึงกัน
  3. ปางมุจรินทร์ หรือปางนาคปรก จะมีอยู่ 3 แบบพิมพ์ คือ

(1) แบบพิมพ์นาคปรกเดี่ยว แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบนาคปรกเดี่ยวอกนูน และแบบนาคปรกเดี่ยวอกราบไม่มีประภารัศมี

(2) แบบพิมพ์นาคปรกคู่ มี 2 แบบ คือ แบบนาคปรกขนาดใหญ่ และแบบนาคปรกคู่ขนาดเล็ก

(3) แบบพิมพ์นาคปรกเดี่ยวประทับนั่งในซุ้มใบไม้ มีฐานกลมตั้งได้

  1. ปางขัดสมาธิ แบ่งออกเป็น 4 แบบพิมพ์ คือ

(1) แบบพิมพ์ประทับนั่งบนบัลลังก์ซุ้มโพธิ์ฐานสูง

(2) แบบพิมพ์ประทับนั่งบนบัลลังก์ซุ้มโพธิ์ฐานเตี้ย

(3) แบบพิมพ์ประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวซุ้มโพธิ์

(4) แบบพิมพ์ประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้นประทานพรอยู่ในซุ้มใบไม้ มีฐานกลมตั้งได้

  1. ปางเสด็จดาวดึงส์มี 2 แบบพิมพ์ คือ

(1) แบบประทับยืนบนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นจับชายจีวร มีพระพุทธรูปปางสมาธิข้างละ 4 องค์

(2) แบบประทับยืนบนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นจับชายจีวร มีพระพุทธรูปปางสมาธิข้างละ 5 องค์ และมีสถูปจำลองข้างละ 4 องค์

  1. ปางลีลา ประทับยืนบนดอกบัว ในลักษณะเอี้ยวตัว พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นสูงระดับพระกรรณ พระพิมพ์นี้มีน้อยมากไม่เกิน 15 องค์
  2. พระแผง มี 3 ลักษณะแบบพิมพ์ คือ

(1) แบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

(2) แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าและสี่เหลี่ยมจตุรัส มีอย่างละ 3 ขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

(3) แบบรูปใบไม้หรือรูปหอย (มีไม่มาก)

ในพระแผงแต่ละพิมพ์แต่ละขนาดจะเป็นภาพเล่าเรื่อง พระปางสมาธิ พระปางนาคปรก เจดีย์หรือสถูป ต้นไม้และดอกไม้

  1. แผ่นดินเผารูปสถูปจำลอง ซึ่งจำลองแบบมาจากสถูปทองสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งนับเนื่องเป็นปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว พระพิมพ์ดินเผานาดูนมีแบบพิมพ์ในรูปลักษณะต่างๆ ไม่น้อยกว่า 40 แบบพิมพ์ และ “ความสำคัญของพระพิมพ์ดินเผานาดูนอยู่ที่ความแตกต่างในรายละเอียดของพระพิมพ์แต่ละชิ้น ความแตกต่างดังกล่าวย่อมมีความหมายอยู่ในตัวเอง อีกทั้งยังบอกถึงคติความเชื่อ ลัทธิศาสนาที่แฝงอยู่ด้วย” ศาสตราจารย์ยอร์ช เชเดส์ (G COEDES) ได้กล่าวไว้ว่า “พระพิมพ์ในสมัยโบราณไม่ได้แสดงแต่เพียงรูปพระพุทธองค์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้แสดงถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นการเฉพาะ” ซึ่งข้อความดังกล่าวมีปรากฏให้เห้นในพระพิมพ์ดินเผานาดูนอย่างเด่นชัดแล้ว