ประวัติชมรมและข้อบังคับของชมรม

หมวดที่หนึ่ง ข้อความทั่วไป

ข้อ ๑. ชื่อ ชมรมนี้ชื่อว่า “ชมรมสงวนพระธาตุนาดูนแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อว่า “ช.พ.ท.”

ข้อ ๒. เครื่องหมายของชมรม เป็นรูปพระอินทร์นั่งแทน มือถือช่อรวงข้าวอยู่ในวงกลม 2 วง ซ้อนกัน มีคำว่า “ชมรมสงวนพระธาตุนาดูนแห่งประเทศไทย” กำกับ
ข้อ ๓. สำนักงาน สำนักงานของชมรมตั้งอยู่เลขที่ ๓๖๗ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ โดยชมรมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิก

(๒) ส่งเสริมการศึกษา ศีลธรรม และวัฒนธรรม
(๓) แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นในบรรดาสมาชิก

(๔) ช่วยเหลือและสร้างเสริมสวัสดิภาพระหว่างสมาชิก

หมวดที่สอง สมาชิกภาพ
ข้อ ๕. ประเภทสมชิก สมาชิกของชมรมมี ๒ ประเภท

(๑) สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี
(๒) สมาชิกกิตติมศักดิ์ได้แก่บุคคลที่มีความสนใจในงานสังคมสงเคราะห์ และทรงเกียรติคุณ ซึ่งกรรมการของชมรมทั้งหมดมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งชมรม

ข้อ ๖. การเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่ประสงค์จะเป็นสมาชิก เว้นแต่ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้ยื่นใบสมัครเป็นไปตามที่กำหนดไว้ต่อนายทะเบียน เมื่อคณะกรรมการอนุมัติและได้ชำระเงินค่าบำรุงแล้วจึงจะถือเป็นสมาชิกได้

นายทะเบียนจะได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้สมาชิกทราบถึงการเป็นสมาชิก และนำรายชื่อสมาชิกใหม่ประกาศ ณ สำนักงานของชมรม

ข้อ ๗. ค่าบำรุง สมาชิกสามัญตลอดชีพ เสียค่าบำรุงครั้งเดียว ๒๐๐ บาท

ข้อ ๘. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

(๑) มีสิทธิประดับเครื่องหมายของชมรม

(๒) มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งประธานชมรม
(๓) มีสิทธิได้รับกาบริการตามที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับของชมรม

(๔) มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการชมรม ทั้งนี้ เฉพาะสมาชิกสามัญเท่านั้น
(๕) มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น ปรึกษาหารือ เพื่อความก้าวหน้าของชมรม หรือข้อความช่วยเหลือต่อที่ประชุม หรือต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับกิจการ ตามวัตถุประสงค์ของชมรม

(๖) มีสิทธิไต่ถาม หรือขอดูเอกสารต่างๆ ของชมรมได้ สมาชิกสามัญไม่ต่ำกว่า ๒๐ คน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอต่อคณะกรรมการ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้
(๗)มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญ หรือการประชุมอื่นใดที่ชมรมจัดขึ้น

(๘)มีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของชมรม
(๙) มีหน้าที่ช่วยเหลือส่งเสริมงานของชมรม

ข้อ ๙. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก
(๓) ที่ประชุมคณะกรรมการการบริหารชมรมลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ให้ออกจากสมาชิก
สำหรับสมาชิกกิตติมศักดิ์ต้องเป็นมติเอกฉันท์

(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นผู้ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่คดีลหุโทษหรือประมาท ผู้ที่ขาดจากการเป็นสมาชิกให้เลขาธิการนำรายชื่อประกาศ ณ สำนักงานของชมรม

หมวดที่สาม การบริหารชมรม

ข้อ ๑๐. กรรมการชมรม

(๑) ในที่ประชุมใหญ่สามัญ ให้สมาชิกเลือกตั้งประธานชมรม เพื่อบริหารงานของชมรม

(๒) การเลือกตั้งประธานชมรมใช้วิธีเสนอชื่อ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๒๐ คน และลงคะแนนโดยวิธีเขียนชื่อ ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ผู้ใดได้คะแนนสูงสุด ถือว่าได้รับตำแหน่งประธานชมรม ถ้าคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับฉลาก
(๓) ให้ประธานชมรมเป็นตัวแทนของที่ประชุมใหญ่สามัญแต่งตั้งสมาชิกอีกไม่เกิน ๑๔ คน และไม่ต่ำกว่า ๘ คน เป็นกรรมการบริหารของชมรม ได้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้คือ :-

๑. รองประธาน

๒. เลขาธิการ
๓. เหรัญญิก

๔. ปฏิคม
๕. บรรณารักษ์

๖. นายทะเบียน
๗. กรรมการหรือกรรมการเจ้าหน้าที่อื่นๆ

(๔) ให้กรรมการบริหารชมรมอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี

(๕) การมอบหมายงาน คณะกรรมการบริหารชุดเก่าจะต้องมอบหมายงานให้แก่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ภายในกำหนด ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้งชมรมในที่ประชุมใหญ่สามัญแล้ว
(๖) ในกรณีนี้คณะกรรมการชุดเก่ารับผิดชอบบริหารงานต่อไป จนกว่าจะมอบหมายการงานเสร็จสิ้น

ตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการอื่นๆ ให้สิ้นสุดลงพร้อมกับวาระของกรรมการชมรมชุดที่เป็นผู้แต่งตั้ง
(๗)ถ้ากรรมการชมรมขาดจำนวนลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ ให้ประธานชมรมเลือกสมาชิกอื่นเข้าดำรงตำแหน่งแทน และให้อยู่ในตำแหน่งชั่วระยะเวลาของคณะกรรมการชุดนั้น

(๘)ถ้าคณะกรรมการลาออกทั้งคณะ ก่อนที่จะถึงคราวออกตามวาระ ให้ประธานชมรมประชุมใหญ่ภายใน ๓๐ วัน เพื่อเลือกตั้งประธานชมรมใหม่ตามข้อ ๑๐ (๒) แต่ให้อยู่ในตำแหน่งเท่าระยะเวลาของคณะกรรมการบริหารชุดที่ลาออก
ข้อ ๑๑. หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารชมรม

(๑) คณะกรรมการบริหารชมรมมีหน้าที่ บริหารงานและมีอำนาจออกระเบียลใดๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของชมรม และตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับนี้

(๒) ให้คณะกรรมการบริหารชมรมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ หรือกิจกรรมของชมรมอย่างน้อย ๒ เดือนต่อครั้งโดยให้เลขาธิการของชมรมเป็นผู้เรียกประชุมตามความเห็นชอบของประธานชมรม กรรมการบริหารชมรม จำนวนไม่น้อยกว่า ๕ คน มีสิทธิขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารชมรม เพื่อพิจารณาข้อเสนอใดๆ ในกรณีนี้ให้ประธานชมรมจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารชมรม ตามคำขอภายในกำหนด ๑๕ วัน
(๓) องค์ประชุมทุกครั้ง ต้องมีกรรมการบริหารชมรมเข้าประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารชมรมทั้งหมด ให้ประธานชมรมเป็นประธานที่ประชุม ถ้าประธานหรือผู้ทำหน้าที่แทนไม่อยู่ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งประธานขึ้นชั่วคราวประชุมนั้น

(๔) นอกจากได้บังคับไว้เป็นอย่างอื่น มติของคณะกรรมการบริหารชมรม ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

(๕) ประธานชมรม มีหน้าที่ควบคุมและดำเนินกิจการของชมรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามแนวนโยบายการดำเนินงานของที่ประชุมใหญ่
ในกรณีที่ประธานชมรมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานทำการแทน ถ้าประธานชมรมหรือรองประธานไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้คณะกรรมการบริหารการเลือกตั้งกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนชั่วคราว

(๖) เลขาธิการ มีหน้าที่นัดประชุม จัดทำรายงานการประชุม ดูแลรักษาสมุดเอกสารและสรรพเอกสารต่างๆ ของชมรม ติดต่อกับสมาชิก และทำกิจการอย่างอื่นที่มิได้กำหนดไว้ ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ นอกจากนี้มีหน้าที่ควบคุมดูแลและจัดกิจการของชมรม แต่การแต่งตั้งหรือถอดถอนพนักงานเจ้าหน้าที่ของชมรมจะกระทำต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร

(๗)เหรัญญิก มีหน้าที่เก็บรักษาเงิน บัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีทรัพย์สิน ตลอดจนบัญชีอย่างอื่น ที่จำเป็นเพื่อเป็นหลักฐาน และแสดงฐานะของชมรม ทั้งจะต้องเก็บรักษาเอกสารใบสำคัญต่างๆ อันเกี่ยวกับการบัญชไว้ให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบด้วย และเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารรับหรือจ่ายเงินในกิจการของชมรม

(๘)บรรณารักษ์ มีหน้าที่จัดสรรให้ได้มา ตลอดจนการดูแลรักษาสรรพหนังสือและห้องสมุดของชมรม

(๙) นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำ และเก็บรักษาไว้ซึ่งทะเบียนสมาชิก และหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในข้อ ๗

(๑๐) ปฏิคม มีหน้าที่ต้อนรับสมาชิก และผู้ที่มาเยี่ยมเยียนชมรม

(๑๑) กรรมการบริหารชมรม มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกกิตติมศักดิ์ กรรมการที่ปรึกษาและอนุกรรมการ และมีหน้าที่รับผิดชอบงานในตำแหน่งหน้าที่ และรับผิดชอบการบริหารชมรมร่วมทั้งคณะ

(๑๒) การทำนินิกรรมใดๆ ของชมรม เช่นการลงชื่อในเอกสารหรือสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของชมรม หรือการดำเนินอรรถคดีให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหาร โดยให้ประธานชมรมและกรรมการเจ้าหน้าที่อีก ๑ คน เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่ผูกพันชมรมนั้น

ข้อ ๑๒. กรรมการจะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ถึงคราวออกจากวาระ

(๒) ตาย
(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติของสมาชิกสามัญ
(๕) ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกโดยคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของผู้มาประชุม

(๖) ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
(๗)ขาดการประชุมติดต่อกันเกิน ๓ ครั้ง โดยไม่แจ้งให้คณะกรรมการบริหารทราบ และโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

หมวดที่สี่ การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ ๑๓. ชมรมอาจได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยมีวิธีดังนี้ –

(๑) จากค่าบำรุงและค่าลงทะเบียนของสมาชิก

(๒) จากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค
(๓) เงินทุนอุดหนุน

(๔) ดอกผลจากทรัพย์สินอันเป็นของชมรม
(๕) ทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้โดยพินัยกรรม หรือนิติกรรมอื่นๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้ชมรมต้องรับผิดชอลในหนี้สินแต่ประการใด

(๖) โดยทางอื่นๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ ๑๔. การจัดเกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินของชมรมให้ปฏิบัติดังนี้ –

(๑) ทรัพย์สินที่ชมรมได้มา ให้ทำบัญชีรายการโดยละเอียด

(๒) เงินของชมรมให้นำฝากธนาคารออมสินหรือธนาคารใดๆ ตามแต่คณะกรรมการบริหารจะเห็นสมควร
– ถ้าเหรัญญิกมีเงินสดในมือเกินกว่า ๒,๕๐๐ บาท จะต้องนำฦากธนาคารภายใน ๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับเงิน

(๓) การรับเงินค่าบำรุงของสมาชิกหรือเงินที่ผู้บริจาคสมทบหรือได้มาโดยวิธีอื่นๆ จะต้องมีลายมือชื่อประธานชมรมและเหรัญญิกทุกครั้ง
(๔) การถอนหรือสั่งจ่ายเงินจากธนาคารจะต้องมีลายมือชื่อของประธานชมรม หรือรองประธานฝ่ายหนึ่งและเหรัญญิกหรือเลขาธิการอีกฝ่ายหนึ่งรวมทั้งสองฝ่ายในเช็ค เช็คนั้นจึงจะใช้ได้

(๕) ประธานชมรมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินในกิจการของชมรมตามวัตถุประสงค์ได้ครั้งละไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ในเดือนหนึ่ง แล้วเสนอคณะกรรมการบริหารเพื่อทราบ และถ้าจ่ายเกินกว่า ๑,๐๐๐ บาท ต้องได้รับอนุญาตจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารก่อน การจ่ายเงินทุกรายต้องมีหลักฐานการจ้ายเงินประกอบ
(๖) เหรัญญิกต้องทำรายงานการเงินเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการบริหารทุกครั้ง

(๗)ให้เหรัญญิกจัดทำงบรายรับ รายจ่ายและงบดุลของชมรมซึ่งสิ้นสุดตามวาระ เพื่อแสดงฐานะการเงินของชมรม เมื่อผู้สอบบัญชีตรวจสอบรับรองแล้วให้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญของชมรม
(๘)ผู้สอบบัญชีของชมรมต้องไม่เป็นกรรมการหรือลูกจ้างของชมรม ผู้สอบบัญชีมีอำนาจสอบถามกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของชมรมได้

หมวดที่ห้า การประชุม

ข้อ ๑๕. การประชุมใหญ่สามัญ ให้มีการประชุมสมาชิกของชมรมเรียกว่า การประชุมใหญ่สามัญ กำหนดวันประชุมอยู่ในช่วงก่อนหรือหลังวันครบวาระไม่เกิน ๓๐ วัน โดยมีระเบียบวาระดังนี้ –

(๑) ประธานชมรมแถลงกิจการในวาระการดำรงตำแหน่ง

(๒) เหรัญญิกเสนองบดุล ซึ่งผู้ตรวจบัญชีของสมาคมรับรองแล้ว
(๓) เลือกตั้งประธานชมรม

(๔) เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
(๕) ปรึกษากิจการอื่นๆ ของชมรม

ข้อ ๐๖. การประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อคณะกรรมการบริหารชมรมเห็นสมควรให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญหรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ร้องขอให้มีการประชุมวิสามัญ

ข้อ ๑๗. องค์ประชุม การประชุมใหญ่ทุกครั้งต้องมีสมาชิกเข้าประชุมไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมและดำเนินการประชุมได้ ถ้านัดครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดใหม่อีกครั้งหนึ่งภายใน ๓๐ วัน ครั้งนี้ถ้าสมาชิกมาไม่น้อยกว่า ๒๕ คน ให้ถือเป็นองค์ประชุมได้ แต่ความในวรรคนี้ก็ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกเป็นฝ่ายเรียกร้องให้มีการประชุม

ข้อ ๑๘. ในการประชุมใหญ่วิสามัญ ที่สมาชิกสามัญร้องให้จัดขึ้นนั้น สมาชิกสามัญมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจคณะกรรมการเป็นบุคคลหรือทั้งคณะ

ข้อ ๑๙. ในการประชุมใหญ่ทุกครั้ง ให้ประธานชมรมเป็นประธานของที่ประชุม ถ้าประธานชมรมไม่อยู่หรือไม่สามารถดำเนินการได้ก็ให้อุปนายกเป็นประธานของที่ประชุม

ข้อ ๒๐. นอกจากจะได้บังคับไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ หากคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

หมวดที่หก การแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ ๒๑. ข้อบังคับชมรมจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่สามัญหรือประชุมใหญ่วิสามัญเท่านั้น ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่ประชุม และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

ข้อ ๒๒. ในกรณีที่สมาชิกเสนอญัตติขอเปลี่ยนแก้ไขข้อบังคับของชมรม จะต้องมีสมาชิกสามัญรับรองจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ คน และให้ยื่นหนังสือแจ้งเรื่องราวพร้อมด้วยร่างข้อบังคับที่แก้ไขต่อเลขาธิการ เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่ได้รับญัตติดังกล่าว

ข้อ ๒๓. ระเบียบหรือข้อบังคับใดๆ ของชมรมที่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้ให้ถือเป็นโมฆะทั้งสิ้น

หมวดที่เจ็ด การเลิกสมาคม

ข้อ ๒๔. การเลิกชมรม จะทำได้ต่อเมื่อเป็นมติเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่วิสามัญ คะแนนเสียงเห็นชอบให้เลิกชมรมต้องมี ๓ ใน๔ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

ข้อ๒๕. การชำระบัญชีเพื่อเลิกล้มชมรมต้องนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อชำระบัญชีเสร็จแล้ว ทรัพยฺสินที่เหลือให้ตกเป็นสมบัติขององค์การกุศล ซึ่งเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้แล้วแต่ที่ประชุมใหญ่จะเห็นสมควร