ประวัติความเป็นมาพระธาตุนาดูน ตอนที่ 1

ความเป็นมาของนครจัมปาศรี

การเกิดเมืองโบราณ

มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคอีสาน มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ตามเพิงผา ตามถ้ำและบริเวณใกล้ริมน้ำ เช่น แถบอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และตามหน้าผาตามริมแม่น้ำโขง เช่น ผาแต้มที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น ในการดำรงชีวิตชุมชนต่างๆ เหล่านี้อาศัยธรรมชาติเป็นสำคัญ เช่น การล่าสัตว์ จับปลา และเก็บของป่าเป็นอาหาร บางท่านจึงเรียกสังคมในยุคแรกเริ่มนี้ว่าสังคมล่าสัตว์

จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงและแหล่งอื่นๆ ในอีสาน ทำให้เราทราบว่า เมื่อประมาณ 5,600 ปีมาแล้ว ชุมชนในอีสานได้อพยพจากที่สูงตามเพิงผา ลงมาอยู่ที่บริเวณ    ที่ต่ำ เช่นที่บ้านเชียง บ้านนาดี ในจังหวัดอุดรธานี และที่บ้านในนนกทา บ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น ชุมชนเหล่านี้ได้พัฒนาตนเองเป็นชุมชนแบบเกษตรกรรม มีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา การหล่อสำริดและเหล็กตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคประวัติศาสตร์ และเริ่มก่อรูปกลายเป็นเมืองในเวลาต่อมา

สังคมโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีความเป็นอยู่แต่ละกลุ่มแต่ละเผ่าเป็นอิสระ  มีความเชื่อทางศาสนาเป็นของกลุ่มของตน ไม่ยอมรับความเชื่อจากคนเผ่าอื่นอย่างง่ายๆ ต่อมาได้เกิดความจำเป็นในการติดต่อคบค้าสมาคม เพื่อการดำรงชีวิตที่สะดวกและดีขึ้น จึงมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่หายากระหว่างกลุ่ม บางกลุ่มมีการแก้ปัญหาโดยการแต่งงานกัน แต่ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และศาสนายังเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม เมื่อหลายๆ กลุ่มเกิดเป็นพันธมิตรกัน จึงทำให้ชุมชนดังกล่าว หันหน้ามาร่วมมือกันสร้างที่อยู่อาศัยให้กว้างขวางใหญ่โตและกลายเป็นสังคมเมือง มีการยอมรับในผู้นำที่มีความสามารถโดยมีศาสนาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเมืองการปกครอง

การพัฒนาของชุมชนเกษตรกรรมมาเป็นชุมชนแบบเมืองในภาคอีสาน รวมทั้งเอเซียอาคเนีย์นั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าได้เริ่มขึ้นในดินแดนแถบนี้ โดยได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมของอินเดียวและจีน โดยเฉพาะอิทธิพลทางด้านศาสนาจากอินเดีย ยังผลให้ชุมชนในดินแดนต่างๆ ได้เริ่มก่อตั้งเป็นเมืองหรือเป็นรัฐเล็กๆ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9        เป็นต้นมา เช่น ฟูนัน จัมปา เจนละ เป็นต้น รัฐเหล่านี้ได้สถาปนาระบบกษัตริย์ และพิธีกรรมต่างๆ ในราชสำนัก โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี การได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย จึงเป็นการพัฒนาตนเองให้เจริญขึ้นตามลำดับทั้งในด้านจิตใจและวัตถุ ซึ่งเป็นการพัฒนาสู่ขั้นอารยธรรมนั่นคือในด้านของการสร้าง เมืองเจ้าผู้ครองได้สร้างเมืองล้อมรอบด้วยคูน้ำและป้อมปราการ สร้างปราสาทเป็นที่อยู่ของกษัตริย์ พระราชวงศ์ และพระเจ้า โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตอาศัยอยู่อีกส่วนหนึ่งในหัวเมืองหรือนคร

ชุมชนในสอีสานได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย โดยผ่านขึ้นตามลำน้ำโขง (อาณาจักรเจนละ) และจากภาคกลางของประเทศไทย (อาณาจักรทวารวดี) ดังนั้น เมืองใดที่อยู่ริมฝั่งทะเลย่อมได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมได้เร็วกว่า ส่วนเมืองในบรรดายุคแรกๆ ของอีสานซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมช้ากว่า ดังปรากฏหลักฐานให้เห็นถึงภาพความเจริญรุ่งเรืองของเมืองโบราณ เช่น เมืองฟ้าแดดสูงยาง และนครจัมปาศรี โดยเฉพาะเมืองนครจัมปาศรี อันเป็นที่ตั้งของอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบันได้ปรากฏหลักฐานที่เป็นโบราณสถานวัตถุ ตลอดจนมีการขุดค้นพบพระพิมพ์ดินเผาและสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อันแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านการเมืองและความเจริญในทางพระพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด

 

2.2 โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ปรากฏในท้องที่อำเภอนาดูน

(1) กู่สันตรัตน์ ตั้งอยู่ที่ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน เป็นโบราณสถานที่สร้างด้วยศิลาแลง ศิลปะแบบบายน สมัยลพบุรี สร้างประมาณปี พ.ศ.1650-1700 สมัยพระเจ้าชัยวรมัน   ที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของขอม ผู้เคร่งในศาสนาพุทธนิกายมหายาน สร้างขึ้นเป็นเทวสถานและพุทธสถาน ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่สร้างด้วยศิลาแลง สูงประมาณ 1.50 เมตร องค์กู่สูงประมาณ 10 เมตร หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่นได้ขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.2514 ได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระพุทธรูปปางนาคปรก (ศิลาทราย) พระโพธิสัตว์วัชรธร (ศิลาทราย) ซึ่งเป็นศิลปะสมัยลพบุรีประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 ปัจจุบันอยูที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2514 เวลา 16.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกู่สันตรัตน์แห่งนี้ นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ชาวนาดูนเป็นอย่างยิ่ง

(2) กู่น้อย อยู่ติดกับกู่สันตรัตน์ ไปทางทิศตะวันออก เป็นปรางค์ขอมก่อด้วย      ศิลาแลงมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ สูง 1.80 เมตร องค์กู่พังเกือบหมด ในการขุดแต่งของหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น พบศิลปวัตถุสมัยลพบุรีหลายชิ้น ชิ้นที่งามที่สุดคือ รูปพระอิศวรรูปพระนารายณ์และเศียรเทวรูป ซึ่งทำด้วยหินทราย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น

(3) ศาลานางขาว (นางชี) อยู่ติดกับกู่สันตรัตน์ไปทางทิศเหนือ เป็นปรางค์ขอม   ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ สูงประมาณ 1 เมตร ตัวกู่พังทลายเกือบหมด หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ.2514 พบศิลาจารึก 1 หลัก สูง 21 เซนติเมตร กว้าง   9 เซนติเมตร หนา 4.5 เซนติเมตร มีจารีกรวม 14 บรรทัด ส่วนบรรทัดที่ 15 ได้ขาดหายไป เพราะศิลาจารึกหักเป็นท่อนออกจากกัน

อาจารย์อำไพ คำโท ได้กล่าวถึงศิลาจารึกหลักนี้ว่า เนื้อหาในจารึกได้กล่าวถึง    พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือพระบาทบรมไกวัลยบท (พ.ศ.1623 – 1650) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาพวกข้าราชการผู้มีนามว่า ราชปติวรมัน ซึ่งเป็นนามซ้ำกันทั้ง 3 คนนี้  จารสุพรรณบัตรเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ใน กัมรเตงชคต หรือเทวสถาน ส่วนที่มีคำว่า ราชปติวรมัน ซ้ำกันอยู่ทั้ง 3 คนในจารึกนั้น หมายถึงคำที่เป็นชื่อบุคคลผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ หรือชื่อที่ได้รับพระราชทาน เพราะชื่อบุคคลที่เป็นเชื้อพระวงศ์หรือชื่อที่ได้รับพระราชทานนี้ มักจะมีความหมายไปในทางใหญ่โตมีอำนาจราชศักดิ์ หรือมิเช่นนั้นจะมีความหมายไปในทางที่เกี่ยวกับหน้าที่การงานหรือที่อยู่อาศัย สำหรับชื่อ บุคคลที่มิใช่เชื้อพระวงศ์ หรือชื่อที่ไม่ได้รับพระราชทานนั้น มักจะใช้คำธรรมดาซึ่งเป็นความหมายทั่วๆ ไป และคำนำหน้านามที่ซ้ำกันทั้ง   3 คำดังกล่าวมิใช่เป็นคนเดียวกัน แต่เป็นคนละคน สำหรับคำทั้ง 3 คำนั้นคือ มาตาญ กัมรเตง และกำเสตง

ศิลาจารึก             มรตาญศรีราชปติวรมัน ขก./13

สถานที่พบ           ศาลานางขาว อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

สำรวจเมื่อ            กันยายน 2514

ปัจจุบันอยู่ที่                   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น

ประวัติศิลาจารึกมรตาญศรีราชปติวรมัน ขก./13

อักษร                 ขอม

ภาษา                 เขมรโบราณ

ศักราช                ประมาณ พ.ศ.1623 – 1650

จารึกอักษร           จำนวน 1 ด้าน 14 บรรทัด

วัตถุที่จารึก           ศิลา

ลักษณะ               แผ่นรูปเสมา

ขนาด                 กว้าง 9 เซนติเมตร สูง 21 เซนติเมตร หนา 4.3 เซนติเมตร

คำอ่านศิลาจารึกมรตาญศรีราชปติวรมัน ขก./13

คำจารึก

  1. กํลุง     สิลา     เนะ
  2. นาม     กรณ    มฺร
  3. ตาญ    ศรีราชปติ        ว
  4. รฺมฺม     วฺระ     กมฺรเตง
  5. อญ      ศฺรีราชปติ        ว
  6. รฺมฺม     กเสตง  ศฺรีราช
  7. ปติ      วรฺมฺม   ติ        วฺระปา
  8. ท        กมฺรเตง          อ
  9. ญ       ศฺรีชัย   วรฺมฺม
  10. เทวเปร     จาร     ต
  11. สุวรฺณฺณปาตฺร
  12. ศิปิ        โอย     จฺวล
  13. ชาไน       กมฺรเต
  14. งชคต    ต        เลง
  15. ……………………………….

คำแปล

ในศิลาจารึกหลักนี้

ชื่อมาตาญศรีราชปติ

วรมัน พระกัมรเตง

อัญ ศรีราชปติวรมัน

กำ เสตง ศรีราชปติ

วรมัน ซึ่งพระบาท

กัมรเตงอัญ ศรีชัย

วรมันเทวะ โปรด

เกล้า ฯ ให้จารสุพรรณ

บัตร เพื่อนำไปเก็บรักษา

ไว้ในกัมรเตงชคต

(4) พระธาตุนาดูน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2522 ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ขุดพบพระพิมพ์ดินเผาในบริเวณที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรบ้านนาดูน ได้พระพิมพ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ข่าวการขุดค้นพบพระพิมพ์ดินเผาได้แพร่กระจายออกไป ทำให้มีประชาชนที่ทราบข่าวเดินทางมาขุดค้นอย่างมากมาย และหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ได้เข้ามาทำการขุดแต่งโบราณสถานตรงที่ขุดพบพระพิมพ์ เพื่อรักษาสภาพสถูปองค์เดิมไว้ แต่กระทำไม่สำเร็จ เพราะฝูงชนจำนวนมหาศาลได้เข้าแย่งชิงเพื่อค้นหาพระพิมพ์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ต้องยุติการขุดแต่งและปล่อยให้ประชาชนได้ขุดค้นหาพระพิมพ์ต่อไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2522 นายบุญจันทร์ เกษแสนศรี นักการภารโรงสำนักงานที่ดินอำเภอนาดูนได้ขุดค้นพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวสถูปทำด้วยทองสำริด และได้นำสถูปดังกล่าวมามอบให้กับอำเภอนาดูน นอกจากนั้นที่ด้านหลังพระพิมพ์บางองค์ยังมีจารึกเป็นภาษาขอมโบราณและมอญโบราณ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการสร้างพระพิมพ์ดินเผาดังกล่าว

รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของศิลปะโบราณวัตถุเหล่านี้จึงได้ดำเนินก่อสร้าง  พระ ธาตุนาดูนขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยบริเวณรอบๆ องค์พระธาตุนาดูนจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมอีกทั้งยังมีการ สร้างสวนรุกชาติและสวนสมุรไพรตกแต่งบริเวณโดยรอบให้งดงามเหมาะสมที่จะเป็น สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอันจะเป็น “พุทธมณฑลอีสาน” ศูนย์กลาง ของพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยสืบต่อไป

 

(5) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือ หนองดูน ตั้งอยู่บริเวณที่ลุ่มกลางนา ของนายก้าน ปัจจัยโก ราษฎรบ้านหนองโง้ง หมู่ที่ 2 ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม อยู่ห่างจากที่ตั้งอำเภอนาดูนไปทางทิศเหนือ ประมาณ 3 กิโลเมตร พ่อใหญ่สุ่ย ปัตตาเนย์ อายุ 81 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองโง้ง เล่าว่า แต่เดิมทุ่งหนองดูนเป็นป่าดงมีต้นไม้หนาแน่น มีสัตว์ป่า เช่น เสือ ข้าง หมี หมูป่า กระทิง แรด สัตว์ป่าเหล่านั้นอาศัยน้ำในหนองดูนยังชีพ ดังนั้นบริเวณหนองดูนจึงเป็นที่ล่าสัตว์ของนายพราน ต่อมาเห็นว่า เป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์จึงมีผู้มาตั้งบ้านเรือนขึ้นบริเวณใกล้ๆ หนองดังกล่าว และตั้งชื่อว่า “บ้านนาดูน”

พ่อใหญ่ก้าน ปัจจัยโก อายุ 75 ปี เจ้าของที่นาเล่าว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นน้ำดูนแล้ว เคยไปเฝ้าดูการไหลซึมของน้ำ และเห็นการไหลซึมของน้ำออกมามากกว่าปกติในวันโกนและวันพระ (ขึ้น แรม 7 , 8 และ 14 , 15 ค่ำ) และบริเวณหนองดูนแห่งนี้ จะมีน้ำไหลซึมตลอดปี จึงเป็นแหล่งน้ำดื่มของผู้คนในระแวกนั้น ตลอดจนสัตว์เลี้ยง ประกอบกับบริเวณใกล้เคียงกับหนองดูนเป็นที่ราบสลับกันเนินดิน บริเวณเหล่านี้ได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ เศษกระเบื้องไห พระพิมพ์ดินเผา และพระสำริดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเนินดินทิศใต้ของหนองดูน เป็นป่ารกมีต้นประดู่ใหญ่ ใช้เป็นที่ตั้งศาลพระภูมิของหมู่บ้าน ซึ่งจะมีการทำบุญเลี้ยงเจ้าที่เจ้าทางเป็นประจำทุกปีเรียกว่าบุญหนองดูน ชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่า บริเวณหนองดูนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เวลาผ่านไปมาจะต้องบอกกล่าว มิฉะนั้นจะได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยลงได้