ประวัติความเป็นมาพระธาตุนาดูน ตอนที่ 3

ผลแห่งการบำรุงพระพุทธศาสนาแห่งมหาราชองค์นี้ ได้แผ่ขยายเข้าสู่ประเทศไทยทั้งที่เป็นวัตถุธรรมและนามธรรม นามธรรมได้แก่ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนวัตถุธรรมนั้นได้แก่ พระสถูปเจดีย์ และพระบรมสารีริกธาตุ สถูปเจดีย์ที่เป็นต้นแบบในปัจจุบัน คือสถูปที่สาญจิ ซึ่งสร้างไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 5 โดยตัวสถูปทำเป็นรูปทรงกลม ลักษณะคล้ายขันน้ำ หรือโอคว่ำ สถูปแบบนี้เองที่พัฒนาเป็นสถูปในดินแดนสุวรรณภูมิ นักโบราณคดีไทยถือกันว่าเป็นศิลปแบบทวารวดี เช่น สถูปที่วัดไชยบาดาล สระบุรี สถูปศิลาที่จังหวัดนครปฐม    เป็นต้น พระสถูปสำริด ที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ก็มีลักษณะรูปทรงร่วมสมัยกับสถูปทั้งสองแห่งดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สถูปสำริดที่นาดูน คือสถูปที่พัฒนามาจากสถูปสาญจิของอินเดีย และเป็นศิลปะร่วมสมัยกับสถูปทวารวดี ซึ่งถือว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ในด้านพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงดำริที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาลออกไป จึงโปรดให้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ ที่เคยแจกจ่ายกันไปใน 8 แคว้น สมัยเมื่อ 300 ปีมาแล้วนั้น มาจัดสรรเป็นส่วนเสียใหม่ โดยแบ่งเป้นส่วนละน้อยๆ แล้วพระราชทานให้ไปสร้างสถูปประดิษฐานไว้ตามเมืองต่างๆ ตามคัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า “ณ ดินแดนสุวรรณภูมินั้นพระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งพระสมณฑูต หรือพระธรรมฑูตเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา 2 องค์ คือ พระโสณะและพระอุตระ” เมื่อประชาชนชาวสุวรรณภูมิมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว ภายหลังก็คงจะต้องมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เข้ามาประดิษฐานไว้ตามเมืองต่างๆ ของแคว้นสุวรรณภูมิ เมืองนครจัมปาศรีที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ก็คงเป็นเมืองหนึ่งในบรรดาเมืองต่างๆ เหล่านั้น

ความเป็นไปได้ของเมืองนครจัมปาศรี ที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม อันเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด จนกระทั่งได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ซึ่งได้มีการขุดค้นพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2522 นั้น ท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร ได้เรียงเรียบตำนานนครจัมปาศรี – กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จากความทรงจำที่เคยอ่านในหนังสือก้อม (หนังสือผูกใบลานขนาดย่อม) ไว้ตอนหนึ่งว่า พระเจ้ายโสวรมันราช ซึ่งเป็นหลานพระเจ้าจิตรเสนครองเมืองเชษฐ์บุรี (ทางนครจำปาศักดิ์) ได้มาตั้งเมืองขึ้นใกล้ท้องทุ่งริมทะเลสาป อันมีพระนางยศรัศมี เป็นมเหสี ให้ชื่อว่า “นครจัมปาศรี” พระองค์ครองเมืองต่อมาไม่นานก็สวรรคต และได้มีกษัตริย์ครองเมืองต่อมาหลายพระองค์ จนถึงสมัยของพระศรีชัยวรมัน ครองเมืองนครจัมปาศรี ได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาในเมืองของพระองค์ จึงพร้อมด้วยบรรดาเสนาอำมาตย์ มุขมนตรี สร้างพระธาตุเจดีย์ โดยหล่อผอบชั้นนอกเป็นสำริด ชั้นต่อไปเป็นทองเหลือง ชั้นสุดท้ายบรรจุใส่พระธาตุไว้นั้นเป็นผอบทองคำ             ในพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มีน้ำจันทร์หอมหล่อไว้ รวมผอบมี 4 ชั้น นอกจากนั้น   ยังโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์มีพระพิมพ์ดินเผาบรรจุไว้รอบๆ มีพระผงขาวชนิดผงว่าวบรรจุเรียงราย และมีพระพุทธรูปสำริดบรรจุไว้ด้วย การสร้างพระธาตุเจดีย์ วัตถุศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิมพ์ต่างๆ ด้งกล่าว เป็นสัญลักษณ์ที่แสดง ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงของพระพุทธศาสนาและบ้านเมือง ในขณะเดียวกันยังเป็นประกาศความชอบธรรมของผู้ปกครองในฐานะของจักรวาทิน หรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ การที่พระเจ้าศรีชยวรมัน (พระเจ้าศรีชัยพรหมเทพ) ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างพระธาตุเจดีย์ หล่อผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ไว้ในนครจัมปาศรี ของพระองค์ก็เพื่อมุ่งหวังให้นครแห่งนี้ กลายเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาและการเมือง ในภูมิภาคนี้ จะเห็นได้จากการสร้างเมือง สร้างคูเมืองหลายชั้น    มีน้ำล้อมรอบ และเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ขณะเดียวกันยังเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทั้งอำนาจทางโลกและทางธรรมโดยแท้ เมืองนครจัมปาศรีจึงกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญทางศาสนาและการเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏ ในปัจจุบันเป็นสิ่งสนับสนุนได้เป็นอย่างดี

 

2.5 อายุสมัยของเมืองนครจัมปาศรี

การอธิบายวิวัฒนาการซึ่งเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมของอีสานในอดีต โดยใช้แนวทางการศึกษาทางมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม เพื่อชี้ให้เห็นขั้นหรือระดับความเจริญของวัฒนธรรมทางศาสนา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายให้เห็นว่า เมืองนครจัมปาศรีเคยเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการปกครองในสมัยอดีตกาลมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงเป็นสิ่งยากที่จะกำหนดมิติแห่งเวลาที่แน่นอนตายตัวตามวิธีการทางประวัติศาสตร์ได้ เพราะขบวนการทางวัฒนธรรมเป็นวิวัฒนาการทางสังคมที่มีความต่อเนื่องกัน ซึ่งเกิดจากการติดต่อระหว่างชนแต่ละกลุ่มและมีการปรับปรุงให้เหมาะสม จนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนอีสานในปัจจุบัน       แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการกำหนดอายุสมัยของเมืองนครจัมปาศรี จึงต้องสันนิษฐานจากโบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีอยู่ เช่น ปรางค์ สถูปพระพิมพ์ และเทวรูป ซึ่งรายละเอียดของการสันนิษฐานดังต่อไปนี้

หลักฐานจากพระพิมพ์ดินเผา ผศ.สมชาย ลำดวน ทางด้านมานุษยวิทยา สังเกตพระพิมพ์และพระวรกายของพิมพ์นั้น ปรากฏว่า เป็นลักษณะของคนพื้นเมืองชาวสยามโบราณ ฉะนั้น ประชาชนชาวเมืองนครจัมปาศรีคือชนชาวสยามนั่นเอง และจากการสังเกตพุทธศิลปะที่พระพิมพ์ ทำให้ทราบว่าเป็นศิลปะที่ร่วมสมัยกับพระพิมพ์แบบพระปฐม ซึ่งนับว่าเป็นพระพิมพ์ชนิดเก่าที่สุดของสยาม ทำขึ้นราว พ.ศ.950-1250 และพระพิมพ์แบบพระปฐมมีการจารึกด้วยอักษรคฤนถ์หรืออักษรขอมโบราณ

พระพิมพ์ดินเผาที่เมืองนครจัมปาศรีหรือนาดูน มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า และรายละเอียดของพุทธศิลปะอื่นๆ ไม่ผิดเพี้ยนไปจากพระพิมพ์แบบพระปฐมแต่อย่างไร นอกจากนี้ยังปรากฏว่า มีอักษรคฤนถ์หรือขอมโบราณ (ปัลลวะ) จารึกอยู่เช่นนั้น อักษรดังกล่าวนั้นมีข้อความแสดงถึงผู้สร้างพระพิมพ์ พร้อมทั้งเจตนาในการสร้างด้วย ภาษาที่จารึกคือภาษาขอมและภาษามอญโบราณ และคำจารึกที่เป็นมอญโบราณนี้มีหลักฐานชัดเจนอยู่ในสมัย     ทวารวดี ประมาณ พ.ศ.1600 และพระพิมพ์กรุนาดูนนี้เองไปสอดคล้องกับพระพิมพ์สมัยก่อนสุโขทัย-เชียงแสน ซึ่งอาจาย์จิตร บัวบุศย์ กล่าวว่า เป็นฝีมือของศิลปินอินเดีย สกุลศิลปะคุปตะ ศิลปินในสกุลนี้ได้เดินทางร่วมกับคณะสงฆ์มาสร้างสรรค์ศิลปะในสุวรรณภูมิ ประมาณ พ.ศ.900-1200 สกุลศิลปะอินเดียใต้ ปาละวะ และจาลุกยะ ประมาณ พ.ศ.1000-1300 ปรากฏเจดีย์ โบสถ์พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ สกุลศิลปะดังกล่าวพบทั่วไปตามซากเมืองโบราณในดินแดนสุวรรณภูมิ จากศิลปะของพระพิมพ์นี้ เราอาจกำหนดอายุของเมืองนครจัมปาศรีได้ว่าคงเจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่างปี 900-1300 หรือใกล้เคียงกันนั้นเอง

หลักฐานจากสถูปเจดีย์ ผศ.สมชาย ลำดวน กล่าวว่า ฐานะของสถูปเจดีย์ที่นาดูนนั้น มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งได้พัฒนามาจากอุบลมณฑล ซึ่งเป็นฐานเจดีย์ที่สร้างขึ้นในยุค “ทวารวดี” คือระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16

จากการประมาณอายุของเมืองนครจัมปาศรี โดยใช้หลักฐานทางโบราณคดีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นภาพความเจริญรุ่งเรืองของเมืองนครจัมปาศรี ประมาณ 1300 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมืองนครจัมปาศรีได้เจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านศาสนาและการปกครอง ตลอดจนมีความเจริญทางด้านวัฒนธรรมและอารยธรรม กล่าวคือสามารถสร้างเครื่องปั้นดินเผา และหลอมหล่อโลหะเหล็กและสำริดได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเจริญถึงขีดสุดก็ถึงยุคเสื่อมโทรม เมื่อขอมเข้ามารุกราน และเข้ายึดครองเมืองนครจัมปาศรีไว้ได้ ก็ได้นำเอาลัทธิศิวเวทของพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ มีการสร้างกู่ เทวรูป ในลัทธิความเชื่อของพราหมณ์ ตามหลักฐานทางโบราณคดีดังที่ปรากฏในท้องที่อำเภอนาดูนในปัจจุบัน