
เจ้าคุณพระอริยานุวัตร เขมะจารี รองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.2468 กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้หัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดหาน้ำในสระมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ จัดส่งไปร่วมงานมหามังคลาภิเษก ในพระราชพิธีรัชมหามงคลบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเสวยราชย์ ในส่วนของจังหวัดมหาสารคาม พระยาสารคามคณะภิบาล (อนงค์ พยัคมรรค์) ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ในขณะนั้น ได้สั่งการให้รองอมาตย์เอกหลวงพิทักษ์นรากร นายอำเภอวาปีปทุม เป็นผู้จัดหาน้ำมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ โดยได้จัดประชุมข้าราชการ ตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่ ลงความเห็นให้นำน้ำจากหนองดูน และนำน้ำจากกุดฟ้าฮ่วน (อยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ ประมาณ 1 ก.ม.) ไปมอบให้พระยาสารคามคณะภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เพื่อส่งไปยังสมุหเทศาภิบาลร้อยเอ็ด และกรุงเทพต่อไป
ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (5 ธันวาคม 2530) กระทรวงมหาดไทยให้จังหวัดมหาสารคาม นำน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือน้ำที่เป็นเส้นชีพสำคัญของจังหวัด เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นน้ำอภิเษกในวันเสด็จออกมหาสมาคม ในพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นายไสว พราหมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายเอกสิทธิ์ บุตรคล้าย นายอำเภอนาดูน ได้เลือกเอาน้ำจากหนองดูนแห่งนี้ส่งเข้าทูลเกล้าฯ ในพระราชพิธีดังกล่าว โดยได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2530 เวลา 09.00 น. แล้วนำไปพักไว้ที่พระอุโบสถ วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ก่อนที่จะส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมต่อไป
ส่วนในด้านความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำหนองดูนนั้น เมื่อปี พ.ศ.2494 ประชาชนได้ลือกันโดยทั่วไปว่า ถ้าใครเป็นโรคง่อยเปลี้ยเสียขา หากใช้น้ำจากสระหนองดูน ไปอาบกินจะหายเป็นปกติหรือโรคในท้องในไส้ ปวดหัว เวียนศีรษะก็จะหายเช่นกัน จึงมีประชาชนจากอำเภอและจังหวัดที่ใกล้เคียง มาตักน้ำดูนไปรักษาโรคกันเป็นจำนวนมาก ทางอำเภอวาปีปทุม (ขณะนั้นตำบลนาดูนขึ้นอยู่กับอำเภอวาปีปทุม) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของอำเภอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปรักษาความปลอดภัยเป็นระยะเวลาเดือนเศษ จนน้ำดูนแห้งขอด และไหลช้าลงตามลำดับ บางพวกที่อยู่ไกลๆ มารอเอาน้ำดูน 2-3 วัน จึงได้เต็มขวดก็มี
2.3 นครจัมปาศรี : ศูนย์กลางทางศาสนา
จากจารึกที่พบที่ศาลานางขาว ตอนหนึ่งระบุนามกษัตริย์ว่า “………กมรเตงอัญศรีชัยพร (ห) มเทพ พระนามนี้แสดงถึงอิทธิพล หรือเป็นกษัตริย์ที่ยอมรับทั้งพราหมณ์และพุทธแบบมหายาน ดินแดนอีสานในสมัยนั้นได้รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์ ในลัทธิไศวนิกาย และรับเอาพุทธศาสนาแบบมหายานเข้าไว้อย่างถาวร โดยลัทธิไศวนิกาย (นับถือศิวลึงก์) ได้ผ่านเข้ามาทางอาณาจักรเจนละ โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้ามเหนทรวรมัน (เจ้าชายจิตรเสน) ส่วนพุทธศาสนาแบบมหายาน ได้ผ่านเข้ามาทางภาคกลางของประเทศไทย
จากหลักฐานทางโบราณคดีของเมืองนครจัมปาศรี ที่ปรากฏในเขตอำเภอนาดูน ปัจจุบัน เช่น กู่สันตรัตน์ กู่น้อย ศาลานางขาว พระพิมพ์ดินเผา สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตลอดจนบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางศาสนา โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนาดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป
2.4 พระบรมสารีริกธาตุเข้าสู่ประเทศไทย
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อ 2553 ปีกว่ามาแล้วนั้น พวก มัลลกษัตริย์ ผู้ครองกรุงกุสินาราก็ช่วยกันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แล้วคิดจะสร้างสถูปเพื่อประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารานั้น เมื่อข่าวทราบไปถึงเมืองอื่นๆ ชาวเมืองนั้นๆ ก็มุ่งหวังที่จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ไปประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะบูชา จนเกือบจะเกิดสงครามแย่งชิงพระบรมธาตุกัน ผลที่สุดโทณพราหมณ์ ได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ย จึงตกลงแบ่งพระธาตุออกเป็น 8 ส่วน เท่าๆ กัน แล้วแยกไปยังที่ต่างๆ 8 แห่ง คือ
- แคว้นมคธ ของพระเจ้าอชาตศัตรู
- กรุงกบิลพัสดุ์ แห่งศักยราช
- เมืองเวสารี ของกษัตริย์ลิจฉวี
- เมืองอัลกัปปะ ของกษัตริย์คุสิยะ
- เมืองเวฎฐทีปกะ
- เมืองรามคาม
- เมืองปาวา
- เมืองกุสินารา ของมัลลกษัตริย์
เมื่อได้รับพระบรมธาตุไปแล้ว ต่างเมืองต่างก็สร้างสถูป เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุจึงเกิดมีพระธาตุเจดีย์เป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้หันมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแทนการทำศึกสงคราม การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- สร้างพุทธเจดีย์สถาน (สถูป)
- การทำสังคายนาพระธรรมวินัย
- การจัดส่งพระเถระออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ