
เนินดินแห่งนี้เป็นที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรบ้านนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ที่เส้นรุ้งที่ 15 42 25” เหนือ และเส้นแวง 103 42 48” ตะวันออก (แผนที่ทหาร ลำดับชุด (7017 ระวางที่ 4640 ///) อยู่ห่างจากตัวอำเภอนาดูน ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร มีลำห้วยนาดูนไหลผ่านทางทิศตะวันออก ห่างประมาณ 200 เมตร เนินดินนี้มีลักษณะเป็นวงรี กว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 14 เมตร สูงจากระดับพื้นดินเดิมประมาณ 1.15 เมตร ผิวดินเป็นสีดำคล้ายดินเตาเผาถ่าน ล้อมรอบด้วยคันนาทั้ง 4 ด้าน มีต้นไม้และเถาวัลย์ขึ้นโดยรอบ แต่บริเวณตรงกลางไม่มีต้นไม้เกิดขึ้นเลย
โบราณสถานแห่งนี้หลังจากเจ้าหน้าที่หน่วยฯ ได้ทำการขุดแต่งโดยรอบแล้ว ประกอบด้วยฐานศิลาแลงเรียงซ้อนกันอยู่ 5 ชั้น สูงประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีความยาวด้านละ 6 เมตร ศิลาแลงแต่ละก้อนมีขนาดไม่เท่ากัน แต่ที่พบส่วนมากมีขนาดกว้างประมาณ 18 – 20 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร หนา 9 – 11 เซนติเมตร นอกจากนั้นยังพบก้อนอิฐขนาดใหญ่ปะปนอยู่ด้วย
3.5 โบราณวัตถุที่เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ขุดพบ
(1) พระพิมพ์ดินเผา (CLAY VOTIVE TABLETS) มีลักษณะสมบูรณ์และ ไม่สมบูรณ์ รวมประมาณ 1,000 ชิ้น (ที่สมบูรณ์ 887 ชิ้น) และเศษแตกหักของพระพิมพ์ดินเผาจำนวน 117 ถุง (เศษพระพิมพ์ดินเผาที่แตกหักจำนวน 18,257 ชิ้น จากรายงานการบันทึกประจำวันการเก็บรักษาโบราณวัตถุที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอนาดูน ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2522 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2522)
(2) ยอดสถูปสำริด 1 ชิ้น
(3) เศษแผ่นทองคำ (GOLDEN PLATES) 2 ชิ้น
(4) แม่พิมพ์ดินเผา (CLAY MOLD) ชำรุด 1 ชิ้น
(5) จารึก (INSCRIPTION) ที่อยู่ด้านหลังพระพิมพ์ดินเผาบางชิ้น มีลักษณะการเขียน 2 แบบ คือ
(ก) จารึกตัวอักษรด้วยการขีดลงบนแผ่นดินเผา (ENGRAVINGS)
(ข) เขียนตัวอักษรด้วยสีแดง (PAINTING)